นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 เม.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 880 view

เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในฐานะประธานอาเซียน เป็นประธานการประชุม

ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศดำเนินการรับมือกับโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดขึ้น  รวมทั้งยืนยันความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างกันและกับหุ้นส่วนต่าง ๆ ในการรับมือกับโควิด-๑๙ อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและการต่อต้านข่าวปลอม การสนับสนุนการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับภูมิภาค การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของอาเซียน การรักษาการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ระบบโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยเฉพาะการไหลเวียนของสินค้าและบริการที่จำเป็น ยา และอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือต่อพลเมืองของอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศที่สาม นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ย้ำความสำคัญของการจัดทำแผนฟื้นฟูภายหลังการสิ้นสุดลงของโควิด-๑๙ และการเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในการรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ประชุมได้สนับสนุนข้อเสนอของไทยเกี่ยวกับการจัดตั้ง “กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19” เพื่อจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน   

เพื่อเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของอาเซียน ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะมอบชุดตรวจชนิด RT-PCR ที่ผลิตในประเทศจากความร่วมมือของรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ให้แก่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวนประเทศละ 10,000 ชุด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ของอาเซียน  ในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม  การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSME รวมทั้งการส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันของอาเซียน นายกรัฐมนตรียังได้เสนอว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการพึ่งพาตนเองของอาเซียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจคุกคามอาเซียนในอนาคต รวมทั้งเห็นว่า วิกฤตนี้ไม่ควรนำไปสู่ความถดถอยของโลกาภิวัตน์ แต่ควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาระดับโลก ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการรับรองปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (โควิด-19) ด้วย
 

แหล่งข้อมูล: กระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย
(http://www.mfa.go.th/main/th/news3/6885/116618-%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80.html)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ