วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 110,485 view

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประเทศบรูไน

1. ภูมิศาสตร์

     บรูไนตั้งอยู่ตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก (743,330 ตาราง กม.) โดยมีพื้นที่ร้อยละ 73 อยู่ในกาลิมันตันของอินโดนีเซีย ร้อยละ 26 อยู่ในรัฐซาบาห์และซาราวักของมาเลเซีย และร้อยละ 1 ในบรูไน (5,765 ตาราง กม.)  พื้นที่ส่วนใหญ่ในเกาะเป็นป่าร้อนชื้นซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ล้านปี

2. ประวัติศาสตร์

    2.1 ในอดีตบอร์เนียวเป็นชื่อที่ระบุในเอกสารประวัติศาสตร์ของจีนว่าเป็นหนึ่งในเมืองท่าของการค้าขายระหว่างราชวงศ์หมิงของจีนและราชวงศ์มัชปาหิต (Majapahit) ของอินโดนีเซีย  ในปี คศ. 1400 สุลต่านของบรูไนได้ประกาศอิสรภาพออกจากอาณาจักรมัชปาหิต และราชวงศ์ Bolkiah ได้ปกครองบอร์เนียวตอนเหนือนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงในช่วงระหว่างปีคศ. 1600 – 1800 ยุคอาณานิคม ซึ่งประเทศโปรตุเกส อังกฤษ และดัตช์ ต่างขยายอิทธิพลมายังบอร์เนียว  ในปี คศ. 1842 สุลต่านบรูไนได้ยกดินแดน (รัฐซาราวัก) ให้แก่ชาวอังกฤษชื่อ James Brooke ที่ช่วยขับไล่กลุ่มกบฎ ซึ่งชาวอังกฤษได้สร้างราชวงศ์ซาราวักขึ้นเป็นราชาคนขาวในดินแดนดังกล่าวและเปลี่ยนราชวงศ์เป็นคนพื้นเมืองจวบจนปัจจุบัน

    2.2 ในปี คศ. 1888 บรูไนและบอร์เนียวตอนเหนือทั้งหมดอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ เพื่อยับยั้งอิทธิพลของดัตช์ในพื้นที่บอร์เนียวตอนกลางและตอนใต้ ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากการประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซียในปี คศ.1945 และสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 1961 ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับเกาะบอร์เนียวได้มาเจรจากันหลายปีเรื่องเขตแดน และท้ายที่สุดได้มีข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวโดยอินโดนีเซียถือครองพื้นที่เขตกาลิมันตัน มาเลเซียในพื้นที่บอร์เนียวตอนเหนือทั้งหมด  อย่างไรก็ดี บรูไนได้ขอถอนตัวจากข้อเสนอสหพันธ์รัฐของมาเลเซีย และประกาศเอกราชในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ คศ. 1984

    2.3 คำว่า “บรูไน” มาจากภาษาสันสกฤต “varuna” มีความหมายว่า น้ำ หรือ Hindu god of rain 

3. ราชวงศ์

    3.1   สมเด็จพระราชาธิบดี (Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah) ประสูติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม คศ.1946) และมีพระอนุชา 3 พระองค์และพระขนิษฐา 6 พระองค์   ทรงจบการศึกษาจาก Victoria Institute มาเลเซีย และ the Royal Military Academy Sandhurst สหราชอาณาจักร และได้รับการแต่งตั้งเป็นมกุฎราชกุมารเมื่ออายุ 15 ปี และเมื่ออายุ 19 ปีได้อภิเษกสมรสกับ Pengiran Anak Saleha  (สมเด็จพระราชินี) จากนั้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม คศ. 1967  เมื่ออายุครบ 21 ปี ก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชาธิบดี องค์ที่ 29 ของราชวงศ์ Bolkiah ซึ่งปกครองบรูไนมากว่า 600 ปี นับเป็นราชวงศ์มุสลิมที่มีประวัติการปกครองยาวนานที่สุดในโลก สมเด็จพระราชาธิบดีได้ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี ในปี คศ. 2017 

สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงมีพระราชโอรส 5 พระองค์ และพระราชธิดา 7 พระองค์ และทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง Prince Al – Muhtadee Billah พระราชโอรสแรก เป็นมกุฎราชกุมารแห่งบรูไนดารุสซาลาม 

4.  ธงชาติบรูไน

สีเหลือง คือสีประจำราชวงศ์ แถบสีขาวและดำ หมายถึง รัฐมนตรีที่ช่วยบริหารประเทศหลังประกาศเอกราช สีขาวคือ

Pengiran Bendahara รัฐมนตรีคนแรกของบรูไน สีดำคือ Pengiran Pemancha รัฐมนตรีคนที่สองดูแลงานต่างประเทศ

เครื่องหมายสัญญาลักษณ์สีแดงมีภาษาอาราบิกข้างบนแปลว่า
“Always render service with God’s guidance” ส่วนภาษาอาราบิกข้างล่างแปลว่า “ Brunei, the Abode of Peace”

5. ระบบการปกครอง

    5.1  ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีทรงดำรงตำแหน่ง Sultan (ประมุข) and Yang Di-Pertuan of Brunei (ผู้บริหารประเทศ) ทรงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพบรูไน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า จึงเป็นศูนย์รวมอำนาจการปกครองและบริหารประเทศ

    5.2  สภานิติบัญญัติ (Legislative Council) จัดตั้งขึ้นในปี คศ.1959 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ และดูแลเรื่องการออกกฎหมาย โดยจะมีวาระการประชุมอย่างต่อเนื่องทุกปี และเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระราชาธิบดีจะมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับนโยบายสำคัญต่างๆ  อาทิ ในปี คศ. 1989 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงและการกินดีอยู่ดีของประชาชน   ในปี คศ. 1992 มีพระราชดำรัสในเรื่องปรัชญาแห่งชาติคือ ราชาธิปไตยอิสลามมลายู
( Malay Islamic Monarchy : MIB)  ซึ่งใจความสำคัญเป็นเรื่องสุลต่านกับประชาชน และศรัทธาต่อพระอัลละห์และผู้ปกครองแผ่นดิน  หลังจากนั้นในปี คศ. 2014 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับกฎหมายอาญาอิสลาม ซึ่งบรูไนเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

    5.3  รัฐบาลจัดตั้งขึ้นครั้งแรกในปี คศ. 1984 โดยรัฐมนตรีจะมีวาระการทำงาน 5 ปีเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงต่างๆ โดยสมเด็จพระราชาธิบดีจะทำหน้าที่แต่งตั้งรัฐมนตรีโดยคัดเลือกจากความไว้วางพระราชหฤทัยและคุณสมบัติ อย่างไรก็ดี รัฐบาลบรูไนทุกสมัยมีการปรับเปลี่ยนรายชื่อคณะรัฐมนตรีก่อนครบวาระบ้างขึ้นอยู่กับผลงาน และความไว้วางใจของสมเด็จพระราชาธิบดี  อาทิ ในกรณีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 ได้มีการปรับรัฐมนตรีออกหลายตำแหน่งเนื่องด้วยมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจส่วนตัวของรัฐมนตรีบางคนที่เอื้อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง  

    5.4  นอกจากบรูไนจะมีการใช้ราชทินนามสำหรับราชวงศ์ พระญาติ แล้ว ยังมีชื่อเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นระบบขุนนางในสมัยก่อนที่จะมีคณะรัฐมนตรีด้วย ได้แก่ Wazir และ Cheteria (ปัจจุบันมีประมาณ 17 คน เป็นผู้มีเชื้อสายพระราชวงศ์) นอกจากนี้ จะมีสรรพนามที่เห็นบ่อย ๆ ได้แก่ Pengiran Anak/Pengiran Muda คือ ผู้มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติใกล้ชิดกับสุลต่าน ส่วน Pengiran คือ ผู้มีเชื้อพระวงศ์ (มีจำนวนมาก) ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับธงประจำตัว ไว้เชิญสู่เสาธงหน้าบ้าน สำหรับ Pehin/ Dato และ Datin คือตำแหน่งที่สุลต่านพระราชทานแก่ชาย/หญิงที่ทำประโยชน์แก่ประเทศ  (Pehin มีขั้นสูงกว่า Dato)

ส่วนคำว่า  Awang คือ นาย และคำว่า Dayang คือนางหรือนางสาว และสำหรับชายและหญิงที่เคยเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ในเมืองเจดดาห์มาแล้ว จะมีคำนำหน้าชื่อคือ Haji (ชาย) Hajah (หญิง) นอกจากนี้  ยังมีคำนำหน้าพิเศษ (prefix) สำหรับใช้เฉพาะในหนังสือราชการ และสุนทรพจน์อีกด้วย โดยคำว่า Yang Amat Mulia ใช้กับผู้ที่มีเชื้อสายพระราชวงศ์ในระดับที่ตำกว่าเจ้าชาย และ Yang Mulia สำหรับบุคคลทั่วไป

6. เศรษฐกิจ

     6.1  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และรายได้ต่อหัวคือ 31,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (อันดับที่ 2 ในอาเซียน) รายได้หลักของประเทศมาจากพลังงาน ได้แก่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 90 ของการส่งออกทั้งหมดของบรูไน  ขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญประกอบด้วย สินค้าเกษตร อาทิ ข้าว และผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรอุตสาหกรรม และรถยนต์  ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของ GDP ของบรูไนมีตัวเลขที่ติดลบต่อเนื่องกันมาตลอด 4 ปี กล่าวคือ ปี คศ. 2014 – 2.5 ปีคศ. 2015 – 0.5 ปีคศ. 2016 – 2.5 และปี คศ. 2017 อยู่ในช่วง  - 0.5 หรือ - 1  เนื่องจากรายได้จากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันลดลงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

     6.2  ในปี คศ.2014 สมเด็จพระราชาธิบดีได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวภายใต้ชื่อ วิสัยทัศน์บรูไนปี 2035 (Wawasan 2035) โดยจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและการค้าบริการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อุตสาหกรรมฮาลาล เทคโนโลยีสารสนเทศ การเงินการธนาคาร และการท่องเที่ยว (ในปีคศ.2017 มีคนเดินทางมาบรูไนจำนวน 1,313,233 คน ซึ่งไม่ได้จำแนกว่าเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือแรงงาน)

     6.3  บรูไนได้จัดสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็กขึ้นจำนวน 19 แห่ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านน้ำมันและ
ปิโตรเคมี การขนส่งสินค้า ชีวภาพและยา เคมีภัณฑ์ บรูไนจะใช้จุดแข็งในเรื่องการเมืองที่มีความมั่นคง ความเป็นอยู่ปลอดภัย ศูนย์กลางการขนส่งทางเรือ แรงงานที่มีการศึกษา อัตราการเก็บภาษีเงินได้ที่ต่ำสุดรองจากสิงคโปร์ในอาเซียน และความสนับสนุนจากภาครัฐ เป็นเครื่องมือชักจูงนักลงทุนต่างประเทศ

7. สังคม/ประชากร/สภาพความเป็นอยู่

     7.1 ประชากรรวมทั้งหมด 422,700 คน แบ่งเป็นชาวมาเลย์ร้อยละ 66 ชาวจีนร้อยละ 11 และอื่นๆ ซึ่งเป็นสัญชาติบรูไน 3 แสนกว่าคน และถือบัตร permanent resident จำนวน 3 หมื่นกว่าคนและ temporary resident จำนวน 6 หมื่นกว่าคน      

      7.2 เมืองหลวง Bandar Seri Begawan มีความเป็นมาจากภาษาเปอร์เชีย Bandar แปลว่า ท่าเรือ  ส่วน Seri Begawan เป็นคำสันสกฤตแปลว่า ผู้ศักดิ์สิทธิ์ บรูไนแบ่งเขตปกครองท้องถิ่นโดยมีจังหวัดสำคัญ 4 จังหวัดได้แก่ 1.) Brunei- Muara จังหวัดที่มีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุด มีท่าเรือและการขนส่ง  2.) Tutong จังหวัดที่เป็นเขตเกษตรกรรม 3.) Belait จังหวัดที่เป็นแหล่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 4.) Temburong จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้และแหล่งน้ำ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของบรูไน

     7.3 ประชาชนบรูไนนับถือศาสนาอิสลามร้อยละ 70 มีมัสยิดทั้งหมดจำนวน 114 แห่งทั่วประเทศ และมี

โบสถ์คริสต์จำนวน 2 แห่ง และวัดจีน 1 แห่ง และเป็นประเทศที่มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม

     7.4   ชุดประจำชาติฝ่ายชายบรูไนคือชุด Baju Cara Melayu ฝ่ายหญิงคือ Baju Kurung ซึ่งคล้ายกับ
ชุดแต่งกายของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย  ดอกไม้ประจำชาติบรูไนคือ Bunga Simpur หรือ ดอกส้านชะวา
ซึ่งปรากฏรูปดอกไม้ในธนบัตร 1 ดอลลาร์บรูไน

     7.5  โดยที่ประเทศบรูไนมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนน้อยมากและปราศจากแหล่งบันเทิง ประชาชนบรูไนและชาวต่างชาติที่พำนักในบรูไนมักจะเดินทางออกไปนอกประเทศในช่วงวันหยุด เช่น สิงคโปร์ และเมืองโกตา คินาบารู รัฐซาบาห์ ของมาเลเซีย (เดินทางโดยรถยนต์ 6 ชั่วโมง ) ตลอดจนเส้นทางระยะสั้นผ่านด่านสุไหงตุโจห์ ไปเที่ยวเมืองมีรี (Miri) หรือผ่านด่านด่านกัวลา ลูลาร์ ไปยังเมืองลิมบัง รัฐซาราวัก เพื่อท่องเที่ยว จับจ่ายซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่า รับประทานอาหารที่มีหลากหลาย และแหล่งบันเทิงต่างๆ ภายในเมือง

8. การศึกษา

       กระทรวงศึกษาบรูไนใช้ระบบการศึกษาแบบเดียวกับสหราชอาณาจักร และเน้นเพิ่มเติมเรื่องอิสลามศึกษา รวมทั้งได้มีนโยบาย SPN 21 เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์บรูไนโดยเน้นพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย รวมทั้งโครงการวิจัยต่างๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจปิโตรเคมี การเกษตรและอาหารฮาลาล รวมทั้งร่วมกับกระทรวงแรงงานจัดทำโครงการ i Ready เพื่อสนับสนุนการหางานของผู้จบการศึกษา โดยเมื่อจบการศึกษาแล้วจะเข้ารับการอบรมให้มีทักษะตอบสนองต่อภาคธุรกิจนั้นๆ ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนจำนวน 800 บรูไนดอลลาร์สำหรับการอบรมระยะเวลา 3 ปี   ปัจจุบัน บรูไนมีมหาวิทยาลัยที่สำคัญ
3 แห่ง ประกอบด้วย University of Brunei Darussalam (UBD) เป็นมหาวิทยาลัยด้านวิชาการทั่วไป, Sultan Sharif Ali Islamic University (UNISSA) เป็นมหาวิทยาลัยอิสลามศึกษา และ University of Technology Brunei (UTB) เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นการสอนด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี

 

------------------------------------------------