การจัดงาน Thailand Bazaar

การจัดงาน Thailand Bazaar

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.ย. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ก.ย. 2565

| 448 view

        สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ร่วมกับสำนักงานในทีมประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานแรงงาน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ สำนักงานการท่องเที่ยวในต่างประเทศประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงจาการ์ตาจัดงาน “Thailand Bazaar” ครั้งที่ 4 ณ ห้างสรรพสินค้า Onecity Shopping Centre ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2565 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและบรูไนในการจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์ไทย และเพิ่มความนิยมในสินค้าและอาหารไทย โดยในงานฯ ได้มีการให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและโอกาสความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและบรูไน และมีผู้ประกอบการไทยและบรูไนมาร่วมจำหน่ายสินค้าไทยประเภทต่าง ๆ อาทิ อาหาร เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ผ้าไหมไทย เสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้าหัตถกรรม และสินค้าที่เกิดจากนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลซึ่งเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากซึ่งบริษัทจากประเทศไทยได้เดินทางมาเข้าร่วมงาน รวมบูธสินค้าจำนวน 40 บูธ นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตได้จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมไทยโดยได้เชิญ Royal Brunei Culinary และผู้ประกอบการร้านอาหารไทยมาร่วมแสดงและสาธิตการประกอบอาหารไทยให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชม การจัดงาน 4 วันมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานประมาณกว่า 10,000 คน

        ในพิธีเปิดงาน “Thailand Bazaar” สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับเกียรติจาก Yang Mulia Mohd. Harris bin Brigadier General Retired Dato Paduka Haji Ibrahim รองปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังด้านการค้าและอุตสาหกรรมมาเป็นแขกเกียรติยศในพิธีเปิดงาน โดยมีคณะทูตานุทูต ข้าราชการระดับสูงของบรูไน ภาคธุรกิจ/เอกชน และสื่อมวลชนเข้าร่วม นางสาวบุศรา กาญจนาลัย เอกอัครราชทูต ได้กล่าวในพิธีเปิดงานถึงความสำคัญในการสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยและบรูไนสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ซึ่งเป็นการช่วยรักษาระดับการค้าระหว่างไทยและบรูไน ผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจและสังคมส่งผลให้มีความจำเป็นต้องปรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับยุคหลังโควิด 19 โดยไทยได้นำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) มาใช้กับเศรษฐกิจของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้เสนอให้เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจในเอเปคภายใต้การเป็นประธานเอเปคของไทยในปีนี้ ซึ่งเน้นการเปิดกว้างสู่ทุกโอกาส เชื่อมโยงในทุกมิติ และสร้างสมดุลในทุกด้านเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ BCG ยังสอดคล้องกับเป้าหมายในแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของบรูไน เช่น การปรับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับยุคหลังโควิด 19 ด้วยการส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินทางระหว่างประเทศ โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปไทย 10 ล้านคน และในเดือนกันยายน Royal Brunei Airlines จะเพิ่มเที่ยวบินไปไทย ซึ่งผู้ประกอบการบรูไนจะสามารถเดินทางไปร่วมงาน THAIFEX ที่ไทยได้ นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ผลิตสินค้าฮาลาลคุณภาพที่มีมาตรฐานตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ